วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556



คำตัดสินเขาพระวิหาร
คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ควรที่จะยุติข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาในเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือปราสาทเขาพระวิหารอันเก่าแก่ ซึ่งสำหรับชาวกัมพูชาแล้วถือว่าเป็นมรดกชิ้นสำคัญที่สุดของพวกเขาถัดมาจากนครวัดทีเดียว อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาต่างก็มีเหตุผลของตนเองที่จะก่อกวนให้เกิดความตึงเครียดใหม่ๆ ขึ้นมา โดยอาศัยแง่มุมที่ยังไม่ชัดเจนในคำตัดสินคราวนี้       
       เชียงใหม่ – คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (นิยมเรียกกันว่า “ศาลโลก” ภาษาอังกฤษคือ International Court of Justice ใช้อักษรย่อว่า ICJ) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ควรที่จะเป็นถ้อยคำสุดท้ายปิดฉากความขัดแย้งที่ดำเนินมายาวนานหลายสิบปีระหว่างไทยกับกัมพูชา ในเรื่องเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในปราสาทโบราณแห่งหนึ่งที่อยู่ตรงบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ตลอดจนพื้นที่รอบๆ ปราสาทแห่งนี้ ทว่าขณะที่ผู้คนจำนวนมากวาดหวังว่าคำตัดสินครั้งนี้จะแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาทชายแดนซึ่งบางครั้งก็ปะทุรุนแรงถึงขั้นมีการเสียชีวิตได้เสียที เอาเข้าจริงแล้วทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาต่างก็มีเหตุผลในทางชาตินิยม ที่จะก่อกวนให้เกิดความตึงเครียดใหม่ๆ ขึ้นมาได้อีก โดยอาศัยแง่มุมที่ยังไม่ชัดเจนในคำตัดสินคราวนี้
      
       ย้อนกลับไปที่เมื่อปี 1962 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินว่า ปราสาทที่เรียกขานกันในกัมพูชาว่า “ปราสาทเปรี๊ยะห์วิเฮียร์” (Prasat Preah Vihear) และ “ปราสาทเขาพระวิหาร” ในประเทศไทยแห่งนี้ เป็นดินแดนของกัมพูชา แล้วในวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลโลกได้ยืนยันคำตัดสินนี้อีกครั้ง นอกจากนั้นยังเน้นย้ำว่าบริเวณชะง่อนผา (promontory) ที่ตั้งปราสาทแห่งนี้เป็นของกัมพูชา และประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องถอนกำลังรักษาความมั่นคงใดๆ ก็ตาม ออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว แต่ศาลก็ได้ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อโต้แย้งของฝ่ายกัมพูชาที่ว่า คำพิพากษาเดิมเมื่อ 51 ปีก่อนนั้นครอบคลุมถึงการยกเขาพนมตรวบ (Phnom Trap) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันให้เป็นของกัมพูชาด้วย รวมทั้งยังปล่อยให้มีความคลุมเครือต่อไปในเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ประมาณ 4 ตารางกิโลเมตรรอบๆ ตัวปราสาทพระวิหาร
      
       ถึงแม้ศาลโลกได้ตัดสินออกมาแล้ว ทว่าประเด็นปัญหานี้ยังดูไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลายอย่างสมบูรณ์หมดจด มิหนำซ้ำยังอาจกลายเป็นการปลุกความเป็นศัตรูอันเก่าแก่ระหว่างประเทศและประชาชนของทั้งสองชาติ ให้กลับปะทุระอุขึ้นมาใหม่ด้วยซ้ำ เนื่องจากข้อพิพาทนี้มีเนื้อหากว้างขวางไปไกลเกินกว่าแค่ปราสาทเก่าแก่อายุ 900 ปีและผืนดินรอบๆ ปราสาทเท่านั้น เพราะมันยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกียรติภูมิของประเทศชาติตลอดจนพัวพันกับการเมืองภายในประเทศของทั้งสองชาติอีกด้วย และส่วนผสมอันปะทุตัวขึ้นมาได้อย่างง่ายดายนี้ ก็ได้เคยเป็นเชื้อเพลิงของการเผชิญหน้ากันด้วยกำลังอาวุธถึงขั้นบาดเจ็บล้มตาย ตลอดจนของการทะเลาะโต้เถียงกันทางการทูตมาหลายต่อหลายครั้งแล้วในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา
      
       นายกรัฐมนตรี น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของไทย ขณะนี้กำลังถูกกระหนาบด้วยการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลตามท้องถนนอยู่แล้ว จึงไม่สามารถที่จะทำตัวให้ถูกมองว่าอ่อนแอในประเด็นนี้ได้ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน เธอออกมาแถลงย้ำว่ากองกำลังทหารไทยจะยังคงประจำอยู่ในพื้นที่ชายแดนตรงนั้นต่อไป และระบุด้วยว่าเธอได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อวิเคราะห์คำพิพากษาล่าสุดนี้ ก่อนที่จะจัดการเจรจาหารือโดยตรงกับฝ่ายกัมพูชา ทั้งนี้ ฝ่ายต่างๆ ได้มีการหยิบยกตั้งคำถามจำนวนมากขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะเกี่ยวกับคำนิยามที่ชัดเจนของคำว่า “ชะง่อนผา” (promontory) ซึ่งศาลโลกเอามาใช้ในคำตัดสิน
      
       ฝ่ายค้านทางการเมืองในประเทศไทย ได้ออกมากล่าวหานานแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่เนรเทศตนเองไปลี้ภัยอยู่ต่างแดนนั้น มีผลประโยชน์ทางธุรกิจส่วนตัวจำนวนมากในกัมพูชา และเขานี่เองเป็นผู้อยู่เบื้องหลังข้อตกลงฉบับหนึ่ง ซึ่งมุ่งที่จะยกอธิปไตยเหนือพื้นที่ปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา โดยขอแลกเปลี่ยนกับการได้สิทธิเข้าร่วมการขุดค้นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่ถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในบริเวณอ่าวไทย
      
       ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลชุดต่างๆ ที่อยู่ในอาณัติของเขา ต่างแถลงปฏิเสธข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านเช่นนี้โดยตลอด โดยที่การกล่าวหาดังกล่าวบังเกิดขึ้นส่วนหนึ่งก็เนื่องจากตัว พ.ต.ท.ทักษิณ รับเป็นที่ปรึกษาพิเศษทางเศรษฐกิจให้แก่นายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ในช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2009 จนถึงเดือนสิงหาคม 2010
      
       ในห้วงเวลาดังกล่าวนี้ รัฐบาลของไทยมีหัวเรือใหญ่เป็นพวกปรปักษ์ทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งก็คือพรรคประชาธิปัตย์ และนายกรัฐมนตรีในตอนนั้นก็คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งนี้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ถือว่า การที่ผู้นำกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษเช่นนี้ คือการแสดงความเหยียดหยามดูหมิ่นระบบตุลาการของไทย เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณในตอนนั้น และกระทั่งในตอนนี้ มีฐานะเป็นนักโทษหลบหนีคดีที่เขาถูกศาลฎีกาของไทยตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปีในความผิดอันเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น การติดสินดังกล่าวมีขึ้นในปี 2008 หรือ 2 ปีหลังจากที่เขาถูกฝ่ายทหารของไทยทำรัฐประหารโค่นล้มลงจากอำนาจ
      
       นายฮุนเซนปฏิเสธไม่ยอมทำตามคำร้องขอบ่อยๆ ครั้งของประเทศไทย ที่ให้ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อกลับมารับโทษทัณฑ์ นอกจากนั้นนายกรัฐมนตรีกัมพูชาผู้นี้ยังออกมาใช้วาจาเชือดเฉือนตอบโต้อยู่บ่อยๆ กับทั้งนายอภิสิทธิ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเขา ซึ่งก็คือ นายกษิต ภิรมย์ ในที่สุดกรุงเทพฯได้ตัดสินใจลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีอยู่กับพนมเปญ รวมทั้งฉีกทิ้งข้อตกลงซึ่งได้ทำเอาไว้ก่อนหน้านั้นเกี่ยวกับพื้นที่ทางทะเลที่สองฝ่ายช่วงชิงกันอยู่ ตลอดจนยังยกเลิกแผนการที่จะให้เงินทุนเพื่อก่อสร้างถนนสายใหม่จากพรมแดนไทยไปจนถึงเมืองเสียมเรียบในกัมพูชา เมื่อปี 2010 ประเทศไทยยังสั่นสะเทือนหนักจากระลอกการประท้วงต่อต้านรัฐบาลของ “คนเสื้อแดง” ที่นิยม พ.ต.ท.ทักษิณ โดยที่ผู้นำของคนเสื้อแดงจำนวนมากทีเดียว ได้ไปขอลี้ภัยอยู่ในกัมพูชา ภายหลังที่ทหารไทยได้บดขยี้ปราบปรามการลุกฮือของพวกเขา
      
       หนึ่งในจำนวนผู้หลบหนีไปเขมรเหล่านี้ ได้แก่ นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นผู้อำนวยการของสถานีโทรทัศน์ของรัฐ 2 ช่องในยุคของอดีตนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นผู้นำของรัฐบาลนิยมทักษิณ ในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายน 2008 ในขณะที่ยังอยู่ในประเทศไทยนั้น นายจักรภพได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำการหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ จากการไปแสดงปาฐกถาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents Club of Thailand) ในเดือนสิงหาคม 2007 กระทั่งหลังจากหลบหนีไปอยู่ในกัมพูชาแล้ว เขาก็ยังคงเขียนคอลัมน์ให้แก่สื่อสิ่งพิมพ์ของคนเสื้อแดงด้วยเนื้อหาที่มีบางคนให้ทัศนะว่ามีความโน้มเอียงไปในทางนิยมสาธารณรัฐ
      
       อดีตเพื่อนร่วมงานคนเสื้อแดงของเขาคนหนึ่ง คือ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ซึ่งกำลังรับโทษจำคุก 11 ปีอยู่ในเรือนจำด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานภาพ จากบทความ 2 ชิ้นที่กล่าวกันว่านายจักรภพเป็นผู้เขียนโดยใช้นามแฝง นายสมยศถูกจับกุมครั้งแรกที่บริเวณด่านชายแดนแห่งหนึ่งในปี 2011 ในขณะที่กำลังพยายามจะข้ามเข้าไปในกัมพูชา
      
       พรรคประชาธิปัตย์นั้นได้ทำการปลุกระดมมวลชนโดยอาศัยประเด็นเรื่องเขาพระวิหาร ด้วยจุดประสงค์ที่จะหาความสนับสนุนให้แก่การรณรงค์ของตนเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่อยู่ในอาณัติของ พ.ต.ท.ทักษิณในปี 2008 ตอนนั้นพรรคกล่าวหากระทรวงการต่างประเทศของไทยว่า ไปยอมรับฉบับแก้ไขของแผนที่ซึ่งกัมพูชาเคยยื่นเสนอต่อศาลโลกในกรุงเฮกเมื่อปี 1962 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแบบยื่นหมูยื่นแมวกับข้อตกลงที่จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ผลประโยชน์ได้สัมปทานธุรกิจทวิภาคี นายอภิสิทธิ์ไปไกลถึงขนาดพูดว่า ประเทศไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเสนอเอาไว้ดังกล่าว และประเทศไทยมีความตั้งใจที่จะหาทางเรียกคืนเขาพระวิหาร “เมื่อโอกาสมาถึง”
      
       **การเมืองแบบชาตินิยม**
      
       ทางฝ่ายกัมพูชา คณะรัฐบาลนายฮุนเซนก็ได้ใช้ประเด็นเรื่องพรมแดนมาหาความสนับสนุนจากประชาชนเช่นเดียวกัน แผ่นป้ายขนาดใหญ่หลายต่อหลายแผ่นที่มีภาพเขาพระวิหาร พร้อมประดับประดาด้วยคำขวัญแบบชาตินิยม ถูกนำออกตั้งแสดงอยู่ในกรุงพนมเปญมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮกล่าสุดนี้ ก็อาจถูกเขาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อโหมประโคมประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party) ของเขาอยู่ในอาการเสียท่าโซซัดโซเซทีเดียว ในการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมของปีนี้ ทั้งนี้พรรคประชาชนกัมพูชาเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งก็จริง ทว่าเสียงข้างมากของพวกเขาได้หดลดลงไปอย่างสำคัญ ขณะที่ทางฝ่ายค้านซึ่งนำโดยพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodian National Rescue Party) ของนายสม รังสี (Sam Rainsy) ระบุว่าผลการเลือกตั้งดังกล่าวแปดเปื้อนด้วยความไม่ปกติต่างๆ มากมาย และหากไม่มีการทุจริตคดโกงกันแล้ว พรรคกู้ชาติกัมพูชาต่างหากคือผู้มีชัยที่แท้จริง
      
       ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประชาชนชาวกัมพูชาเป็นหมื่นๆ คน ในจำนวนนี้มีทั้งพระภิกษุในพุทธศาสนา และกลุ่มฝ่ายค้านต่างๆ ได้จัดการชุมนุมมวลชนขึ้นหลายครั้งในกรุงพนมเปญเพื่อประท้วงผลการเลือกตั้งที่ประกาศออกมา ทั้งนี้เราต้องเข้าใจด้วยว่า การระดมเรียกร้องประชาชนให้ออกมาเคลื่อนไหวแสดงกำลัง ด้วยการชูประเด็นต่อต้านไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ลำบากยากเย็นอะไรเลยในกัมพูชา เนื่องจากผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้มีความคิดเห็นต่อคนไทยว่า เป็นพวกที่กำลังข่มเหงรังแกเหล่าชาติเพื่อนบ้านที่ไม่ยอมรับความเป็นผู้นำของพวกเขา
      
       สำหรับตัวปราสาทพระวิหารจริงๆ แล้วสร้างขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 โดยกษัตริย์หลายๆ องค์ของกัมพูชา ในช่วงเวลาที่จักรวรรดิเขมรมีขนาดอันใหญ่โตและมั่งคั่งรุ่งเรือง ต่อมาเมื่อจักรวรรดิแห่งนี้เกิดการแตกร้าว ดินแดนหลายๆ ส่วนก็ได้สูญเสียให้แก่พวกประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งประเทศไทย และนี่ก็คือคำอธิบายว่าทำไมจึงมีปราสาทแบบเขมรหลายต่อหลายแห่งปรากฏอยู่ในพื้นที่หลายๆ จังหวัดของประเทศไทยในยุคสมัยใหม่
      
       ปราสาทแบบนี้แห่งใหญ่ที่สุด ซึ่งก็คือ ปราสาทเขาพนมรุ้ง ในจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่ลึกเข้ามาข้างในดินแดนของไทย และด้วยเหตุนั้นจึงไม่เคยกลายเป็นข้อพิพาทช่วงชิงใดๆ เลย ทว่าเขาพระวิหารนั้นตั้งอยู่บนยอดของชะง่อนผาที่อยู่สูงกว่าดินแดนที่ราบลุ่มกัมพูชาหลายร้อยเมตร ฝ่ายไทยโต้แย้งว่าเมื่อยึดตามหลักการใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ปราสาทพระวิหารจะตั้งอยู่ทางข้างของพวกเขา และด้วยเหตุนี้จึงเป็นดินแดนของไทย ในทางเป็นจริงแล้วตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เส้นทางที่จะเข้าไปถึงตัวปราสาทแห่งนี้แทบทั้งหมด ล้วนเป็นเส้นทางที่ตัดผ่านดินแดนซึ่งปัจจุบันอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ ของประเทศไทย จวบจนกระทั่งถึงปี 2003 นั่นแหละจึงเกิดมีถนนสายที่สามารถใช้เดินทางผ่านเข้าออกสู่เขาพระวิหารได้ ก่อสร้างขึ้นจากทางฝั่งกัมพูชา
      
       สำหรับชาวกัมพูชาแล้ว เขาพระวิหารเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในมรดกตกทอดแต่โบราณกาลของพวกเขา มีความสำคัญถัดลงมาจากนครวัด ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่แรงกล้ายิ่งกว่าด้วยซ้ำหรับลัทธิชาตินิยมกัมพูชา ความตึงเครียดระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาปะทุแผ่ลามออกไปจนกลายเป็นเหตุจลาจลอย่างรวดเร็ว หลังจากที่มีรายงานเล่าลือกันในเดือนมกราคม 2003 ว่า ดารานักแสดงหญิงของไทยคนหนึ่งได้พูดว่า นครวัดควรที่จะเป็นของไทย แท้ที่จริงแล้ว ไทยก็เคยครอบครองนครวัดมานาน จวบจนกระทั่งถึงปี 1907 เมื่อประเทศไทยต้องยอมสละพื้นที่ซึ่งเป็นจังหวัดพระตะบอง, จังหวัดเสียมเรียบ อันเป็นที่ตั้งของนครวัด, และจังหวัดศรีโสภณ ไปให้แก่ฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าอาณานิคมปกครองกัมพูชาอยู่ในเวลานั้น
      
       ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองกัมพูชา พระตะบองและเสียมเรียบได้ถูกยกส่งกลับคืนมาให้ประเทศไทย ทว่าฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งมีไหวพริบตระหนักเป็นอันดีถึงความอ่อนไหวของประเด็นนี้ รวมทั้งทราบว่าความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชานั้นอยู่ในสภาพของความขมึงเกลียวเรื่อยมา ดังนั้นจึงตัดเอานครวัดออกจากข้อตกลงนี้ โดยที่ตลอดช่วงสงคราม นครวัดยังคงถูกถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “อินโดจีนของฝรั่งเศส” (French Indochina) ซึ่งถูกญี่ปุ่นยึดครอง
      
       การที่ดารานักแสดงชาวไทยผู้นั้นถูกกล่าวหาว่าได้พูดว่านครวัดควรเป็นของไทย กลายเป็นการจุดชนวนให้กรุงพนมเปญระเบิดตูมตามออกมา เกิดเป็นกระแสการชุมนุมต่อต้านคนไทยอย่างโกรธแค้น พวกผู้ประท้วงบุกเข้าไปจุดไฟเผาสถานเอกอัครราชทูตไทย สำนักงานต่างๆ ของพวกบริษัทไทยที่ตั้งอยู่ในนครหลวงของกัมพูชาก็ถูกฝูงชนผู้เกรี้ยวกราดบุกฉกชิงปล้นสะดม ในเวลานั้นมีเสียงกล่าวหากันว่าพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของกัมพูชาเปิดไฟเขียวให้เกิดการจลาจลขึ้นมา ด้วยความมุ่งหมายที่จะอาศัยอารมณ์ความรู้สึกแบบชาตินิยมมาเรียกเสียงสนับสนุนของประชาชน ทั้งนี้ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกแก๊งเด็กวัยรุ่นสามารถที่จะเคลื่อนไหวเตร็ดเตร่ไปมาในกรุงพนมเปญเพื่อเที่ยวทำลายฉกชิงทรัพย์สินข้าวของต่างๆ ของคนไทยได้อย่างเสรีเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง กลายเป็นหลักฐานที่สร้างความน่าเชื่อถือทีเดียวให้แก่ข้อเสนอแนะทำนองนี้
      
       ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายกำลังศึกษาพิจารณาแง่มุมผลกระทบต่างๆ จากคำพิพากษาล่าสุดนี้ ยังไม่มีความชัดเจนอะไรว่ามันจะจุดประกายให้เกิดความรุนแรงแบบชาตินิยมในลักษณะคล้ายๆ กันขึ้นมาอีกได้หรือไม่ กลุ่มประท้วงต่อต้านรัฐบาลหลายกลุ่มที่ขณะนี้ปักหลักอยู่บนท้องถนนในกรุงเทพฯ มีความพยายามที่จะอาศัยคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาขยายและยกระดับการชุมนุมต่อต้านของพวกเขาซึ่งชูธงคัดค้านสภาไทยผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ทว่ามนตร์เสน่ห์ของลัทธิชาตินิยมยังดูไม่อาจก่อกระแสความขุ่นแค้นของประชาชนไทยได้ ในระดับเทียบเท่ากับการกู่ร้องต่อต้านการนิรโทษกรรม
      
       กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าในไทยหรือกัมพูชา ต่างยังคงมีแรงกระตุ้นเกี่ยวกับความภาคภูมิใจในชาติคุกรุ่นอยู่อย่างเหลือเฟือ จนเกินกว่าที่จะทำให้ประเด็นเรื่องเขาพระวิหารนี้จางหายไปได้เพียงด้วยคำตัดสินของศาลโลกในคราวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อพื้นที่จำนวนมากของพรมแดนร่วมกันของประเทศทั้งสอง ยังคงไม่ได้มีการปักปันกันอย่างชัดเจน นักการเมืองไม่ว่าฝ่ายไทยหรือฝ่ายกัมพูชา จึงยังคงสามารถที่จะฉวยใช้ประโยชน์จากความไม่แน่นอนเช่นนี้ เพื่อผลักดันวาระของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นวาระในทางสนับสนุนหรือในทางต่อต้านรัฐบาลของแต่ละฝ่ายก็ตามที
      
       เบอร์ทิล ลินต์เนอร์ เคยเป็นผู้สื่อข่าวของนิตยสารฟาร์ อีสเทิร์น อีโคโนมิก รีวิว (Far Eastern Economic Review) ปัจจุบันเป็นนักเขียนที่ทำงานให้ Asia Pacific Media Services